บท 13
เห็นคุณค่าชีวิตที่เป็นของขวัญจากพระเจ้า
1. ใครเป็นผู้ให้ชีวิตเรา?
พระยะโฮวา “เป็นพระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่” (เยเรมีย์ 10:10) พระองค์เป็นผู้สร้างและให้ชีวิตเรา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระองค์สร้างทุกสิ่ง ทุกสิ่งมีอยู่และถูกสร้างขึ้นตามความต้องการของพระองค์” (วิวรณ์ 4:11) พระยะโฮวาอยากให้เรามีชีวิต และชีวิตก็เป็นของขวัญที่มีค่ามากจากพระองค์—อ่านสดุดี 36:9
2. เราจะมีความสุขแท้ในชีวิตได้อย่างไร?
2 พระยะโฮวาให้ทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อเราจะมีชีวิตอยู่ได้ เช่น ให้มีอาหารและน้ำ (กิจการ 17:28) แต่ไม่ใช่แค่นั้น พระองค์อยากให้เรามีความสุขกับชีวิตด้วย (กิจการ 14:15-17) เพื่อเราจะมีความสุขแท้ในชีวิต เราต้องเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า—อิสยาห์ 48:17, 18
พระเจ้ามองชีวิตอย่างไร?
3. พระยะโฮวาทำอะไรเมื่อคาอินฆ่าอาเบล?
3 คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าชีวิตของเราและของคนอื่นมีค่ามากสำหรับพระยะโฮวา เช่น อาดัมกับเอวามีลูกชื่อคาอินกับอาเบล ตอนที่คาอินโกรธอาเบล พระยะโฮวาเตือนคาอินว่าให้ควบคุมความโกรธ แต่คาอินไม่ฟัง เขาโกรธมากจนลงมือ “ทำร้ายและฆ่าอาเบลน้องของตัวเอง” (ปฐมกาล 4:3-8) พระยะโฮวาจึงลงโทษคาอิน (ปฐมกาล 4:9-13) ดังนั้น ความโกรธและความเกลียดชังอันตรายมาก เพราะสามารถทำให้เรากลายเป็นคนใจคอโหดเหี้ยมและใช้ความรุนแรงซึ่งคนแบบนั้นจะไม่ได้รับชีวิตตลอดไป (อ่าน 1 ยอห์น 3:15) ถ้าเราอยากทำให้พระยะโฮวาพอใจ เราต้องเรียนที่จะรักทุกคน—1 ยอห์น 3:11, 12
4. กฎหมายข้อหนึ่งในบัญญัติ 10 ประการที่พระเจ้าให้ชาวอิสราเอลสอนอะไรเกี่ยวกับความสำคัญของชีวิต?
4 หลายพันปีต่อมา พระยะโฮวาให้บัญญัติ 10 ประการกับโมเสส ซึ่งช่วยเราให้รู้ว่าพระองค์ยังมองว่าชีวิตมีค่า ในบัญญัตินั้นมีกฎหมายข้อหนึ่งที่บอกว่า “อย่าฆ่าคน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:17) ถ้าคนไหนฆ่าคนโดยเจตนา เขาจะต้องถูกฆ่าด้วย
5. พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับการทำแท้ง?
5 พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับการทำแท้ง? แม้แต่ชีวิตเด็กที่อยู่ในท้องก็มีค่าสำหรับพระยะโฮวา พระยะโฮวาบอกในกฎหมายที่พระองค์ให้กับชาวอิสราเอลว่า ถ้าใครทำให้ผู้หญิงที่ท้องอยู่บาดเจ็บจนทำให้เธอแท้งลูก คนนั้นจะต้องถูกฆ่า (อ่านอพยพ 21:22, 23; สดุดี 127:3) เรื่องนี้สอนเราว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิด—ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 28
6, 7. เราจะทำให้พระยะโฮวาเห็นได้อย่างไรว่าชีวิตมีค่าสำหรับเรา?
6 เราจะทำให้พระยะโฮวาเห็นได้อย่างไรว่าเรามองว่าชีวิตของเราและของคนอื่นมีค่า? ก็โดยที่ไม่ทำอะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อชีวิตเราและชีวิตคนอื่น ดังนั้น เราไม่สูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบ ไม่เคี้ยวหมาก และไม่ใช้ยาเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและอาจทำให้เราตายได้
7 ร่างกายและชีวิตมาจากพระเจ้า เราควรใช้ชีวิตในแบบที่พระองค์อยากให้ใช้ ดังนั้น เราต้องดูแลร่างกายของเราให้ดี ไม่อย่างนั้น เราจะเป็นคนที่ไม่สะอาดในสายตาของพระเจ้า (โรม 6:19; 12:1; 2 โครินธ์ 7:1) พระยะโฮวาเป็นผู้ที่ให้ชีวิตเรา พระองค์จะไม่ยอมรับการนมัสการของเราถ้าเราไม่ได้มองว่าชีวิตมีค่า ดังนั้น เมื่อเรามองว่าชีวิตมีค่า เราก็จะพยายามเลิกนิสัยที่ไม่ดีบางอย่าง ถึงแม้การทำอย่างนั้นเป็นเรื่องยากมาก แต่พระยะโฮวาจะช่วยถ้าเราพยายาม
8. เราต้องทำอะไรเพื่อไม่ทำให้ชีวิตของเราและของคนอื่นตกอยู่ในอันตราย?
8 เราได้เรียนว่าชีวิตเป็นของขวัญที่มีค่าจากพระเจ้า พระยะโฮวามั่นใจว่าเราจะพยายามเต็มที่เพื่อไม่ให้ชีวิตของเราหรือของคนอื่นตกอยู่ในอันตราย เราควรขับขี่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ ด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงกีฬาที่เสี่ยงอันตราย (สดุดี 11:5) นอกจากนั้น เราควรดูแลบ้านให้เป็นที่ที่ปลอดภัยด้วย ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งว่า “เมื่อสร้างบ้านใหม่ คุณจะต้องทำแนวกั้นรอบดาดฟ้าป้องกันไม่ให้คนพลัดตกลงไป เพื่อคุณและครอบครัวจะได้ไม่มีความผิดฐานฆ่าคน”—เฉลยธรรมบัญญัติ 22:8
9. เราควรทำอย่างไรเพื่อแสดงว่าชีวิตสัตว์มีค่า?
9 ชีวิตสัตว์ก็สำคัญสำหรับพระยะโฮวาด้วย พระองค์อนุญาตให้เราฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร และถ้าสัตว์จะทำร้ายเราพระองค์ก็อนุญาตให้ฆ่ามันได้ (ปฐมกาล 3:21; 9:3; อพยพ 21:28) แต่เราจะไม่รังแกสัตว์ ไม่ฆ่ามันเพื่อความสนุกสนานหรือเป็นเกมกีฬา—สุภาษิต 12:10
นับถือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต
10. เรารู้ได้อย่างไรว่าเลือดหมายถึงชีวิต?
10 พระยะโฮวาถือว่าเลือดศักดิ์สิทธิ์ เพราะเลือดหมายถึงชีวิต หลังจากที่คาอินฆ่าอาเบล พระยะโฮวาพูดกับคาอินว่า “เลือดของน้องเจ้าที่ไหลลงไปในดินกำลังร้องขอความยุติธรรมจากเรา” (ปฐมกาล 4:10) เลือดของอาเบลหมายถึงชีวิตของเขา และพระยะโฮวาลงโทษคาอินที่ฆ่าอาเบล หลังน้ำท่วมโลกในสมัยโนอาห์พระยะโฮวาทำให้เห็นชัดอีกครั้งว่าเลือดหมายถึงชีวิต ตอนที่พระยะโฮวาอนุญาตให้โนอาห์และครอบครัวกินเนื้อสัตว์ได้ พระองค์บอกว่า “สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหมดจะเป็นอาหารของพวกเจ้า เรายกสัตว์ทั้งหมดนั้นให้พวกเจ้าเหมือนที่เราได้ยกพืชสีเขียวทั้งหมดให้พวกเจ้าแล้ว” แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่พระยะโฮวาสั่งพวกเขาไม่ให้กิน พระองค์บอกว่า “แต่เนื้อที่ยังมีเลือดอยู่นั้นพวกเจ้าอย่ากิน เพราะเลือดหมายถึงชีวิต”—ปฐมกาล 1:29; 9:3, 4
11. พระยะโฮวาสั่งชาวอิสราเอลอย่างไรเกี่ยวกับเลือด?
11 ประมาณ 800 ปีหลังจากที่พระยะโฮวาสั่งโนอาห์ว่าห้ามกินเลือด พระองค์ก็สั่งประชาชนของพระองค์อีกครั้งว่า “ถ้าชาวอิสราเอลคนไหน หรือคนต่างชาติที่อยู่ในแผ่นดินของพวกเจ้าคนไหนไปล่าสัตว์ และจับสัตว์ป่าหรือนกที่กินได้มา เขาต้องทำให้เลือดของมันไหลออก แล้วเอาดินกลบไว้” แล้วพระองค์ก็บอกว่า “พวกเจ้าอย่ากินเลือด” (เลวีนิติ 17:13, 14) จากข้อนี้ทำให้เราเห็นว่าพระยะโฮวายังอยากให้ประชาชนของพระองค์มองว่าเลือดนั้นศักดิ์สิทธิ์ พวกเขากินเนื้อสัตว์ได้แต่ห้ามกินเลือด และเมื่อฆ่าสัตว์เป็นอาหารก็ต้องทำให้เลือดไหลลงดินก่อน
12. คริสเตียนมองเลือดอย่างไร?
12 ไม่นานหลังจากพระเยซูตาย พวกอัครสาวกและพวกผู้ดูแลประชาคมคริสเตียนในกรุงเยรูซาเล็มมาประชุมกันเพื่อตัดสินว่ากฎหมายที่พระเจ้าให้กับชาวอิสราเอลข้อไหนที่คริสเตียนยังต้องทำตามอยู่ (อ่านกิจการ 15:28, 29; 21:25) พระยะโฮวาช่วยพวกเขาให้เข้าใจว่าเลือดมีค่า และพวกเขาก็ควรมองว่าเลือดนั้นศักดิ์สิทธิ์ด้วย คริสเตียนในยุคแรกต้องไม่กินหรือดื่มเลือด และไม่กินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เอาเลือดออก ถ้าพวกเขาไม่ทำตามก็จะมีความผิดเท่ากับการไหว้รูปเคารพหรือทำผิดศีลธรรมทางเพศ คริสเตียนแท้ในสมัยนั้นไม่กินหรือดื่มเลือด แล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไร? ตอนนี้พระยะโฮวาก็ยังอยากให้เรามองว่าเลือดศักดิ์สิทธิ์
13. ทำไมคริสเตียนถึงไม่รับการถ่ายเลือด?
13 นี่หมายความว่าคริสเตียนไม่ควรรับการถ่ายเลือดด้วยใช่ไหม? ใช่แล้ว คุณรู้แล้วว่าพระยะโฮวาสั่งไม่ให้กินหรือดื่มเลือด ก็เหมือนกับถ้าหมอสั่งคุณไม่ให้ดื่มเหล้า คุณจะฉีดเหล้าเข้าไปในร่างกายแทนไหม? คุณไม่ทำอย่างนั้นแน่ ๆ! ดังนั้น คำสั่งที่ไม่ให้กินหรือดื่มเลือดก็หมายถึงไม่รับการถ่ายเลือดด้วย—ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 29
14, 15. คริสเตียนจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าชีวิตมีค่าแต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อฟังพระเจ้า?
14 สมมุติหมอบอกว่าคุณจะตายถ้าไม่รับเลือดล่ะ คุณจะทำอย่างไร? แต่ละคนต้องตัดสินใจเองว่าจะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือดหรือไม่ คริสเตียนถือว่าชีวิตเป็นเหมือนของขวัญที่มีค่ามากจากพระเจ้า เราจึงพยายามหาวิธีรักษาแบบอื่นแทน แต่เราจะไม่ยอมรับการถ่ายเลือดเด็ดขาด
15 เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะมีสุขภาพที่ดี เราไม่อยากตาย แต่เนื่องจากเลือดหมายถึงชีวิตและมีค่ามากสำหรับพระเจ้า เราจึงไม่รับการถ่ายเลือด การที่เราเชื่อฟังพระยะโฮวาแล้วเสียชีวิตก็ยังดีกว่ารอดชีวิตมาได้โดยไม่เชื่อฟังพระองค์ พระเยซูบอกว่า “คนที่พยายามเอาตัวรอดจะเสียชีวิต แต่คนที่ยอมสละชีวิตเพื่อผมจะได้ชีวิต” (มัทธิว 16:25) เราอยากเชื่อฟังพระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์ พระองค์ผู้เดียวรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา เราจึงมองว่าชีวิตมีค่าและศักดิ์สิทธิ์เหมือนที่พระยะโฮวามอง—ฮีบรู 11:6
16. ผู้รับใช้ของพระเจ้าเชื่อฟังพระองค์เพราะอะไร?
16 ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าตั้งใจแน่วแน่ที่จะเชื่อฟังกฎหมายของพระองค์เกี่ยวกับเลือด พวกเขาไม่กินเลือดและไม่รับการรักษาที่ใช้เลือด * แต่พวกเขาจะหาวิธีรักษาแบบอื่นแทน เนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้สร้างและผู้ให้ชีวิต พวกเขาจึงมั่นใจว่าพระองค์รู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับพวกเขา แล้วคุณล่ะ คุณมั่นใจไหมว่าพระองค์รู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับคุณ?
วิธีเดียวที่พระยะโฮวาอนุญาตให้ใช้เลือดได้
17. วิธีเดียวที่พระยะโฮวาอนุญาตให้ชาวอิสราเอลใช้เลือดคืออะไร?
17 ในกฎหมายที่พระยะโฮวาให้โมเสส พระองค์บอกชาวอิสราเอลว่า “ชีวิตอยู่ในเลือด และเราให้ใช้เลือดกับแท่นบูชาเพื่อการไถ่บาป [หรือการขออภัยบาป] ของพวกเจ้า เลือดนี้จะใช้เพื่อการไถ่บาปเท่านั้น” (เลวีนิติ 17:11) เมื่อชาวอิสราเอลทำบาป พวกเขาสามารถขอพระยะโฮวาให้อภัยพวกเขาโดยถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา และปุโรหิตจะเทเลือดบางส่วนของสัตว์นั้นที่แท่นบูชาในวิหารของพระเจ้า นี่เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่พระยะโฮวาอนุญาตให้ชาวอิสราเอลใช้เลือด
18. การสละชีวิตของพระเยซูทำให้พวกเราได้รับโอกาสอะไร?
18 เมื่อพระเยซูมาบนโลก ท่านได้สละชีวิตหรือเลือดของท่านเพื่อไถ่บาปให้เรา กฎหมายเรื่องการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป (มัทธิว 20:28; ฮีบรู 10:1) ชีวิตของพระเยซูมีค่ามาก การสละชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่ทำให้มนุษย์มีโอกาสได้รับชีวิตตลอดไปจากพระยะโฮวา—ยอห์น 3:16; ฮีบรู 9:11, 12; 1 เปโตร 1:18, 19
19. เราต้องทำอะไรเพื่อจะ ‘ไม่มีใครมาโทษเราได้’?
19 เราขอบคุณที่พระยะโฮวาให้ชีวิตเรา และเราอยากบอกคนอื่น ๆ ว่าถ้าเขาเชื่อในพระเยซู เขาจะมีชีวิตตลอดไปได้ เรารักผู้คนและเราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อสอนพวกเขาว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้ชีวิต (เอเสเคียล 3:17-21) ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็จะพูดได้เต็มปากเหมือนอัครสาวกเปาโลว่า “ถ้ามีใครไม่รอด ก็จะมาโทษผมไม่ได้ เพราะผมได้ทุ่มเทตัวบอกพวกคุณทุกสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ” (กิจการ 20:26, 27) เมื่อเราบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระยะโฮวาและเรื่องที่ว่าชีวิตมีค่าสำหรับพระองค์ ก็แสดงว่าเราเห็นค่าชีวิตและนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด
^ วรรค 16 ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายเลือด ในหนังสือ “เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ” หน้า 77-79 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา
เรียนคัมภีร์ไบเบิลแล้วได้อะไร?